หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2555

โรงพยาบาลสุรินทร์จัดงานวันพยาบาลแห่งชาติ 2555

               วันนี้ (22 ตุลาคม 2555) มีนายยุทธนา  วิริยะกิตติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ได้เดินทางมาเป็นประธานเปิดงานวันพยาบาลแห่งชาติ และทำพิธีวางพานพุ่มถวายราชสักการะสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ห้องประชุมสระโบราณ โรงพยาบาลสุรินทร์  โดยมี นพ.สอาด วีระเจริญ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์   ดร.นพ.ธงชัย  ตรีวิบูลย์วณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุรินทร์  และเหล่าพยาบาลให้การต้อนรับ ในงานนี้ได้มีการมอบรางวัลให้แก่พยาบาลดีเด่นซึงทำการมอบโดยนายยุทธนา วิริยะกิตติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์
               วันที่ 21 ตุลาคม เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในฐานะที่พระองค์ท่านทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการพยาบาล และตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจในการพัฒนาสุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิตของประชาชนเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตา และด้วยพระวิริยะอุตสาหะ นำสิริสุขแก่ปวงชนทุกก้าวพระบาทที่เสด็จไปถึง สมควรเป็นแบบอย่างแก่ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ให้ตระหนักในภารกิจของวิชาชีพแห่งตนว่าเป็นงานบริการสุขภาพที่มีความสำคัญ และมีคุณค่าแก่สังคม ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าวแล้วนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอขอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรี ให้วันที่ 21 ตุลาคม ของทุกปีเป็นวันพยาบาลแห่งชาติ ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2533 สภาการพยาบาล และสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ในนามของพยาบาลและผดุงครรภ์ทั้งประเทศถือเป็นสิริมงคลอันสูงยิ่ง และได้ร่วมกันจัดงานวันพยาบาลแห่งชาติ ในวันที่ 21 ตุลาคม ของทุกปีนับแต่นั้นเป็นต้นมา







                                                                                                               สุพล  พันอิน / ข่าว



                          

วันอังคารที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ช่วงปลายฝนต้นหนาวระวังโรคปอดบวม

          
             ดร.นพ.ธงชัย  ตรีวิบูลย์วณิชย์   ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุรินทร์    เป็นห่วงสุขภาพประชาชนชาวจังหวัดสุรินทร์ เตือน ช่วงปลายฝนต้นหนาวระวังโรคปอดบวม
             ผอ.รพ.สุรินทร์ กล่าวว่า ในช่วงปลายฝนต้นหนาวจนถึงฤดูหนาว อากาศจะชื้น ซึ่งจะเอื้ออำนวยให้เชื้อโรคต่างๆ มีชีวิตอยู่ได้นานขึ้น โดยเฉพาะโรคปอดบวมซึ่งเป็นโรคที่เด็กเล็กเป็นกันมาก ที่สำคัญพบว่าโรคปอดบวมเป็นโรคแทรกซ้อนที่สำคัญของเด็กที่ได้รับเชื้อไข้หวัดใหญ่ ซึ่งจะส่งผลให้อาการทวีความรุนแรงมากขึ้นหลายเท่าจนอาจจะทำให้เสียชีวิตได้ โดยทั่วไปโรคปอดบวมส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียนิวโมคอคคัสชนิดรุนแรง (โรคไอพีดี) โดยที่เชื้อนิวโมคอคคัสหรือสเตรปโตคอคคัสนิวโมเนียอี นอกจากจะก่อให้เกิดโรคปอดบวมชนิดรุนแรงหรือปอดอักเสบแล้ว ยังสามารถแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่นๆ ทำให้เกิดโรคติดเชื้อรุนแรง เช่น โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคติดเชื้อในกระแสเลือด และหูอักเสบ เป็นต้น ซึ่งหากเกิดกับเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ขวบ หรือในเด็กเล็กที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องก็จะมีอาการรุนแรงมากขึ้นได้

         
      


                                                                                                               ข่าว/สุพลพันอิน



วันอังคารที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

รองผู้ว่าฯ สุรินทร์ ยืนยัน ช้างที่ทำร้ายคนจนเสียชีวิตช่วงจัดงานตักบาตรบนหลังช้าง ไม่ได้ตกมัน


เป็นรูปประกอบข่าวไม่ไช่ช้างที่ก่อเหตุ

                 รองผู้ว่าฯ สุรินทร์ ยืนยัน ช้างที่ทำร้ายคนจนเสียชีวิตช่วงจัดงานตักบาตรบนหลังช้าง ไม่ได้ตกมันแต่ เกิดจากคนเข้าไปแหย่ช้าง จนช้างหงุดหงิดและทำร้ายจนเสียชีวิต
         รองผู้ว่าฯ สุรินทร์ ยืนยัน ช้างที่ทำร้ายคนจนเสียชีวิตช่วงจัดงานตักบาตรบนหลังช้าง ไม่ได้ตกมันแต่ เกิดจากคนเข้าไปแหย่ช้าง จนช้างหงุดหงิดและทำร้ายจนเสียชีวิต จากเหตุการณ์ มีช้างทำร้ายคนจนได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ล่าสุด นายยุทธนา วิริยะกิตติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ พร้อมด้วยนายแพทย์สอาด วีระเจริญ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ ได้ร่วมแถลงข่าว ที่ห้องแถลงข่าวมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ถึงกรณีดังกล่าวว่า เหตุการณ์ได้เกิดขึ้นช่วงเช้าวันที่ 30 ก.ค.55 ก่อนการตักบาตรบนหลังช้าง ที่บริเวณภายในวัดชุมพลสุทธาวาส อ.เมือง จ.สุรินทร์ ซึ่งอยู่ใกล้สถานที่นางสาวยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ร่วมในพิธีตักบาตรบนหลังช้าง โดยยืนยันว่า ช้างทั้ง 45 เชือกที่ทางจังหวัดสุรินทร์ ได้นำมาใช้ในการประกอบพิธีตักบาตรบนหลังช้าง ได้มีการคัดเลือกมาเป็นอย่างดี มีควาญช้างดูแลอย่างใกล้ชิดทุกเชือก และไม่ได้มีอาการตกมันตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด แต่เหตุดังกล่าวเป็นเหตุสุดวิสัย เนื่องจากผู้เสียชีวิตได้เข้าไปหยอกล้อกับช้างที่ผูกไว้ จนช้างเกิดความหงุดหงิดและทำร้ายจนเสียชีวิตในเวลาต่อมา
               อย่างไรก็ตาม นางสาวศันสนีย์ นาคพงษ์ โฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ว่า เป็นเรื่องที่น่าสลดใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเช้านี้ ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้ทราบข่าวนี้แล้ว รู้สึกเสียใจและแสดงความเสียใจผ่านไปยังญาติและครอบครัวของผู้เสียชีวิต ในส่วนของจังหวัดจะดูแลและรับผิดชอบผู้เสียชีวิตต่อไป








                                               อ้างอิง/pr สุรินทร์
                                                         ภาพ-ข่าว/ สุพล  พันอิน

วันจันทร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

นายกรัฐมนตรี เปิดงานมหกรรมแห่เทียนพรรษา ที่ จ.สุรินทร์




        นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและคณะ มีกำหนดการเดินทางมาประชุมครม.อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ที่จังหวัดสุรินทร์ ในวันที่ 29 กรกฎาคม ช่วงเวลา 14.00 น.ประกอบภารกิจที่โรงสี สกต. ร้อยเอ็ด อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานเปิดงานบัตรสินเชื่อเกษตรกร มอบสินเชื่อเกษตรกร ชมการใช้บัตรสินเชื่อเกษตรกร ในการซื้อปัจจัยการเกษตร ผ่านเครื่องรูดบัตร EDCและเยี่ยมชมโรงสี สกต. ร้อยเอ็ด พร้อมรับฟังบรรยายสรุป


          จากนั้น นายกรัฐมนตรี เดินทางมาที่จังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานในพิธีเปิดงานมหกรรมแห่เทียนพรรษา ที่บริเวณอนุสาวรีย์พระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง เวลา 17.00 น. ซึ่งเป็นงานประจำปีที่สำคัญของจังหวัดสุรินทร์ โดยมีการจัดขบวนแห่ต้นเทียนพรรษา ด้วยขบวนช้าง 85 เชือก ซึ่งประดับไฟ แสง สี สวยงาม และขบวนวัฒนธรรมท้องถิ่น เวลา 18.00 น. นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน(กรอ.) ที่โรงแรมทองธารินทร์ จังหวัดสุรินทร์ และเวลา 18.30น. ประธานการประชุมร่วมกับคณะผู้ว่าราชการจังหวัดอีสานตอนล่าง 8 จังหวัด








           ส่วนในวันที่ 30 กรกฎาคม 2555 เวลา 07.00 น.จะเป็นประธานทำบุญตักบาตรบนหลังช้างหนึ่งเดียวในโลก ที่บริเวณอนุสาวรีย์พระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง และเวลา 09.00 น. จะเป็นการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ โรงแรมลานช้าง มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ และเวลา 13.50 น.เดินทางเพื่อตรวจเยี่ยมชมศูนย์คชศึกษา อำเภอท่าตูม ชมการสาธิตเซ่นศาลปะกำ ชมพิพิธภัณฑ์ช้าง และชมการแสดงช้าง ก่อนจะเดินทางกลับกรุงเทพมหานคร








                                                                             อ้างอิง/ pr จ.สรินทร์
                                                                             ข่าว/สุพล พันอิน


วันเสาร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

รมว.ศธ.ย้ำ ร.ร.ปฏิบัติตาม 6 มาตรการป้องโรคมือ เท้า ปาก


             เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการ ศธ. พร้อมด้วยนายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และตัวแทนนักเรียน 9 โรงเรียน ครูผู้ปกครองเข้าร่วมพร้อมรับมอบคู่มือและชุดอุปกรณ์ป้องกันโรคมือ เท้า ปากให้กับโรงเรียนนำไปใช้ทำความสะอาด
นายสุชาติกล่าวว่า ศธ.อยากเน้นย้ำให้ทุกโรงเรียนปฏิบัติตามมาตรการและขจัดโรคมือ เท้า ปาก 6 ข้อ ดังนี้
      1.ให้สถานศึกษาร่วมกับสาธารณสุขจังหวัด, อำเภอ, ตำบล ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคดังกล่าวแก่ผู้ปกครองและนักเรียน
      2.ให้เฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคในสถานศึกษาอย่างเข้มงวด
      3.สถานศึกษาต้องติดตามสถานการณ์และประสานงานกับ สธ.อย่างใกล้ชิด
      4.ให้จัดประชุมครูเกี่ยวกับข้อมูลโรคดังกล่าวและจัดทำคู่มือเอกสารให้กับผู้ปกครอง และชี้แจงให้นักเรียนทราบ ทั้งนี้ ให้ครูเฝ้าสังเกตนักเรียน และตรวจสุขภาพนักเรียนทุกคน หากพบนักเรียนมีอาการเข้าข่ายน่าสงสัย เช่น มีจุดหรือผื่นแดง ตุ่มพองใสที่มือ แขน ขา หรือมีไข้ ให้แจ้งผู้ปกครองนำไปพบแพทย์ด่ว
      5.หากพบนักเรียนเป็นโรคดังกล่าว ผู้บริหารต้องสั่งปิดโรงเรียนเป็นระดับชั้น เพื่อป้องกันการระบาด อย่างน้อย 7-10 วัน และ
     6.หากเกิดการระบาดในสถานศึกษาต้องมีการควบคุมอย่างเข้มข้นตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรค
นายวิทยากล่าวว่า สธ.ร่วมมือกับทุกหน่วยงานในการป้องกันเฝ้าระวังโรคที่เกิดขึ้น ขณะนี้สถานการณ์โรคดังกล่าวมีการควบคุมที่ดี โดยดูได้จากพ่อแม่ผู้ปกครองเมื่อลูกหลานมีอาการผิดปกติ หรือมีไข้ก็พามาพบแพทย์ทันที และล่าสุดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้ประสานมายัง สธ.ให้เข้าไปช่วยดูแล แนะนำร้านเกมและร้านวีดิทัศน์ เนื่องจากร้านเหล่านี้มีเด็กเข้าไปใช้บริการจำนวนมาก ซึ่ง สธ.พร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการเข้าไปช่วยดูแล
           อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โรคดังกล่าวที่เกิดขึ้นถือว่ามีผู้ป่วยจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน และคาดว่าปลายเดือนสิงหาคมนี้จำนวนผู้ป่วยคงลดลง ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะติดต่อไปยังผู้ใหญ่นั้น เชื่อว่าไม่สามารถติดต่อมายังผู้ใหญ่ได้ นอกจากผู้ใหญ่ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือไม่ดูแลรักษาความสะอาดตนเอง
              พญ.มาลินีกล่าวว่า กทม.ได้ร่วมกับ สธ.เฝ้าระวังโรคดังกล่าวอย่างเต็มที่ โดยนอกจากจะขอความร่วมมือไปยังโรงเรียนในการดูแลของ กทม. ครูให้ช่วยดูแลเด็ก และทำความสะอาดโรงเรียนแล้ว ยังมีบริการแพทย์เคลื่อนที่และจะมีเจ้าหน้าที่แพทย์ พยาบาล จากกรมควบคุมโรคเข้าไปตรวจสุขภาพแก่เด็ก

วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

กรมควบคุมโรคยันไวรัสโรคมือเท้าปากไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่และไม่กลายพันธุ์


            กรมควบคุมโรคยันไวรัสโรคมือเท้าปากไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่และไม่กลายพันธุ์ คาดอีก 4-6 สัปดาห์อัตราการป่วยลดลง แนะประชาชนอย่าตื่นตระหนก ยันเด็กตายรายแรกที่ รพ.นพรัตน์ราชธานี ไม่ใช่ด้วยโรคนี้ ล่าสุดพบผู้ใหญ่ป่วยแล้ว คาดติดเชื้อจากเด็ก กทม.ส่งเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง หลังประชาชนตื่นกลัว
ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ไม่อยากให้ตื่นตระหนกเกี่ยวกับเชื้อไวรัสมือเท้าปาก เพราะเชื้อนี้ไม่ใช่เชื้อใหม่ และไม่มีการกลายพันธุ์ใดๆ ทั้งสิ้นซึ่งเชื้อไวรัสมือเท้าปากในปีนี้ คือ ค็อกซากี A6 และเอนเทอโรไวรัส 71 สายพันธุ์ B5 เป็นเชื้อที่เคยพบอยู่ก่อน แม้แต่เอนเทอโรไวรัส 71 สายพันธุ์ C4 ที่พบในเวียดนามก็เคยพบในไทยแต่ไม่รุนแรงเช่นกัน เพราะสามารถควบคุมได้สรุป ก็คือ ในปีนี้เชื้อไม่ได้รุนแรงอย่างที่คิดส่วนที่พบจำนวนมากในช่วง 1-2 เดือนนี้เพราะเป็นช่วง ก่อโรค เนื่องจากเป็นฤดูฝน มีความอับชื...้น ระบายอากาศไม่ดี ทำให้ในแหล่งชุมชน หรือแหล่งคนจำนวนมาก โรงเรียนอนุบาล ศูนย์เด็กเล็กมีโอกาสติดเชื้อ และแพร่กระจายสูง
           ส่วนกรณีที่เชื้อมีการเปลี่ยนแปลงและนำไปสู่การเปลี่ยนกลุ่มการรับเชื้อจากเด็กเล็กไปเป็นเด็กโตนั้น ข้อเท็จจริงต้องบอกว่า เชื้อไวรัสมือเท้าปากจะติดคนที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน ซึ่งในผู้ใหญ่ส่วนใหญ่จะมีภูมิคุ้มกันแล้ว รวมทั้งคนที่เคยติดเชื้อแล้ว ก็จะไม่เป็นอีก แต่ในกรณีข่าวที่พบปิดโรงเรียนประถมวัย ต้องดูว่าเด็กกลุ่มดังกล่าวอายุเท่าใด ซึ่งหากต่ำกว่า 12 ปี ก็ถือว่าปกติเพราะอยู่ในข่ายไม่มีภูมิต่อเชื้อ
นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ผู้อำนวยการสำนักโรคอุบัติใหม่ ในฐานะโฆษกกรมควบคุมโรคกล่าวว่า สถานการณ์ระบาดของโรค พบผู้ป่วย13,918 คน ถือว่าอยู่ในช่วงระบาดสูงสุด เชื่อว่าจะระบาดต่อเนื่องอีก 4-6 สัปดาห์ จากนั้น อัตราการป่วยจะค่อยๆ ลดลง ขอประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนก อย่างไรก็ดี ขอให้ผู้ปกครองหมั่นสังเกตบุตรหลาน หากมีไข้สูงเกิน 3 วัน คลื่นไส้มีตุ่มน้ำตามฝ่ามือ เท้า ควรพบแพทย์ทันที สิ่งสำคัญต้องดูแลสุขอนามัยของเด็กที่ต้องสะอาดและปลอดภัย



                                                                                                   ที่มา / กลุ่มสื่อสาร สคร นครราชสีมา
                                                                                                     ข่าว / สุพล  พันอิน

วันพุธที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

โรงพยาบาลสุรินทร์ "เข้ม" คัดกรอง มือ เท้า ปาก


    


        วันนี้ (18 กรกฎาคม) นพ.มงคล  เกียรติกวินพงศ์ หัวหน้ากลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลสุรินทร์  นำทีมเจ้าหน้าที่ ออกตรวจคัดกรองโรคมือเท้าปาก ที่ศุนย์เด็กเล็กต้นกล้า ตำบลนอกเมือง อ.เมือง จ.สุรินทร์
       โรคมือ เท้า และปาก เป็นกลุ่มอาการหนึ่งของโรคติดเชื้อเอนเทอโรไวรัส อาการป่วยได้แก่ มีไข้ มีจุดหรือผื่นแดงอักเสบในปาก มักพบที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม และเกิดผื่นแดง ซึ่งจะกลายเป็นตุ่มพองใสรอบๆ แดง (มักไม่คัน เวลากดจะเจ็บ) ที่บริเวณฝ่ามือ นิ้วมือ และฝ่าเท้า โรคนี้พบบ่อยในเด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี พบน้อยลงในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี และน้อยมากในเด็กวัยรุ่น
       โรคมือ เท้า ปาก มักติดต่อโดยการได้รับเชื้อจากอุจจาระ ฝอยละอองน้ำมูก น้ำลาย หรือน้ำในตุ่มพองหรือแผลของผู้ป่วยเข้าสู่ปาก การติดต่อทางน้ำหรืออาหารมีโอกาสเกิดได้น้อย การแพร่ติดต่อเกิดขึ้นค่อนข้างง่ายในช่วงสัปดาห์แรกของการป่วย และแม้อาการทุเลาลงแล้ว ก็ยังอาจแพร่เชื้อได้บ้าง เนื่องจากเชื้อจะถูกขับออกมากับอุจจาระได้นานถึง 6 สัปดาห์
         อาการของโรคเริ่มด้วยไข้ (อาจเป็นไข้สูงในช่วง 1 - 2 วันแรก และลดลงเป็นไข้ต่ำ ๆ อีก 2 - 3 วัน) มีจุดหรือผื่นแดงอักเสบในปาก มักพบที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม ทำให้เจ็บปากไม่อยากทานอาหาร จะเกิดผื่นแดง ซึ่งจะกลายเป็นตุ่มพองใสรอบๆ แดง ที่บริเวณฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า และอาจพบที่อื่น เช่น ก้น หัวเข่า ฯลฯ ผื่นนี้จะกลายเป็นตุ่มพองใสรอบๆแดง (maculo-papular vesicles) มักไม่คัน แต่เวลากดจะเจ็บ ต่อมาจะแตกออกเป็นหลุมตื้นๆ (ulcer) อาการจะดีขึ้นและแผลหายไปใน 7 – 10 วัน
ในเด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี บางรายอาจมีอาการแทรกซ้อนรุนแรง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (aseptic meningitis) ก้านสมองอักเสบ (brain stem encephalitis) ตามมาด้วยปอดบวมน้ำ (pulmonary edema) กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และระบบหัวใจและระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว ทำให้เสียชีวิตได้ สัญญาณอันตรายได้แก่ ไข้สูงไม่ลดลง ซึม อาเจียนบ่อย หอบ และแขนขาอ่อนแรง เกิดภาวะอัมพาตคล้ายโปลิโอ