นายนิรันดร์ บุญสิงห์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยว่า จังหวัดสุรินทร์ประสบภัยแล้งตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2555 และได้ประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ภัยแล้ง แล้ว จำนวน 15 อำเภอ 135 ตำบล 1,825 หมู่บ้าน หรือร้อยละ 86.08 ของพื้นที่ทั้งหมด ได้แก่ อำเภอเมืองสุรินทร์ ปราสาท สังขะ บัวเชด กาบเชิง โนนนารายณ์ ท่าตูม ชุมพลบุรี ศรีณรงค์ รัตนบุรี จอมพระ ศีขรภูมิ พนมดงรัก ลำดวน และอำเภอกาบเชิง ราษฎรได้รับเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะน้ำดื่มที่สะอาด162,543ครัวเรือน 767,339 คน คิดเป็นร้อยละ 61.56 ของครัวเรือนทั้งหมด สำหรับน้ำใช้ในครัวเรือนและน้ำเพื่อการเกษตรยังไม่ประสบความเดือดร้อนส่วนอำเภอที่ได้รายงานสถานการณ์ภัยแล้งเพิ่มเติมจำนวน 2 อำเภอ คือ อำเภอสำโรงทาบ 10 ตำบล 100 หมู่บ้าน อำเภอเขวาสินรินทร์5 ตำบล 55 หมู่บ้าน และอำเภอสังขะประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้งเพิ่มเติม ครั้งที่ 2 จำนวน 5 ตำบล 78 หมู่บ้าน ขณะนี้อยู่ระหว่างนำเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์พิจารณาประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้ง และในขณะนี้ หน่วยส่วนราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แจกจ่ายน้ำอุปโภค-บริโภค ให้แก่ราษฎรจำนวน 15 อำเภอ 135 ตำบล 1,825หมู่บ้าน จำนวน 1,456 เที่ยว ปริมาณน้ำ 7,301,000 ลิตร โดยใช้งบประมาณองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 728,000บาท
หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุรินทร์ กล่าวเพิ่มเติม ว่า มาตรการเร่งด่วนในการให้การช่วยเหลือประชาชนได้แก่ การจัดหาน้ำอุปโภคบริโภค การจัดหาน้ำเพื่อการเกษตร การสร้างรายได้และส่งเสริมอาชีพระยะสั้น การควบคุมและป้องกันโรค การดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนนอกจากนั้นยังจังหวัดสุรินทร์ยังได้แจ้งเตือนให้ประชาชนระมัดระวังพายุฤดูร้อน ซึ่งในช่วงนี้จะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และส่งผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน และสิ่งปลูกสร้าง ตลอดจนพืชผลทางการเกษตรของประชาชน จึงให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำชับเจ้าหน้าที่ติดตามการพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของป้ายโฆษณาต่างๆ หากพบว่าไม่ปลอดภัย หรือติดตั้งโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่โดยเคร่งครัด และแจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังตลอดจนดูแลบ้านเรือน โรงเรือนต่างๆ ให้อยู่ในสภาพแข็งแรงและปลอดภัย สำหรับเกษตรกรชาวสวนให้ดูแลค้ำยันต้นไม้ให้แข็งแรงเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น และแจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังอัคคีภัยและไฟป่า เนื่องจากช่วงฤดูร้อนจะมีลักษณะอากาศแห้งซึ่งเอื้ออำนวยต่อการเกิดอัคคีภัยและไฟป่าได้ง่าย จึงให้ระมัดระวังการใช้เชื้อเพลิงในกิจกรรมต่างๆ รวมถึงงดการเผาหญ้าริมทางและเผาฟางข้าวเพื่อลดมลภาวะทางอากาศที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนอีกทางหนึ่ง
สมทรง เผือกผล ส.ปชส.สุรินทร์ / ข่าว
สุพล พันอิน รพ.สุรินทร์ / ส่งต่อ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น