หน้าเว็บ

วันพุธที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2555

รพ.สุรินทร์ เตือน ระวังไข้หวัดใหญ่ สายพันธ์ใหม่



ไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช1เอ็น1 Influenza A (H1N1)

   ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ เอ เอช1เอ็น1 เป็นโรคที่แพร่ติดต่อระหว่างคนสู่คน เริ่มพบที่ประเทศเม็กซิโกและสหรัฐอเมริกา ต่อมาได้แพร่ออกไปยังอีกหลายประเทศเชื้อสาเหตุ
เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช1เอ็น1 (A/H1N1) ซึ่งเป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่ตัวใหม่ ที่ไม่เคยพบมาก่อน เกิดจากการผสมสารพันธุกรรมของเชื้อไข้หวัดใหญ่ของคน สุกร และนก
การแพร่ติดต่อ
เชื้อไวรัสที่อยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย แพร่ติดต่อไปยังคนอื่น ๆ โดยการไอจามรดกันโดยตรง หรือหายใจเอาฝอยละอองเข้าไป หากอยู่ใกล้ผู้ป่วยในระยะ 1 เมตร บางรายได้รับเชื้อทางอ้อมผ่านทางมือหรือสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น แก้วน้ำ ลูกบิดประตู โทรศัพท์ ผ้าเช็ดมือ เป็นต้น เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางจมูก ตา ปาก
ผู้ป่วยอาจเริ่มแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 1 วันก่อนป่วย ช่วง 3 วันแรกจะแพร่เชื้อได้มากสุด และระยะแพร่เชื้อมักไม่เกิน 7 วัน
อาการป่วย
ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการหลังจากได้รับเชื้อไวรัส 1 – 3 วัน น้อยรายที่นานถึง 7 วัน อาการป่วยใกล้เคียงกันกับโรคไข้หวัดใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วไป เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ไอ เจ็บคอ อาจมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสียด้วย
ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง หายป่วยได้โดยไม่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล อาการจะทุเลาและหายป่วยภายใน 5 – 7 วัน แต่บางรายที่มีอาการปอดอักเสบ รุนแรง จะพบอาการหายใจเร็ว เหนื่อย หอบ หายใจลำบาก ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้


การรักษา
ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที ซึ่งแพทย์จะพิจารณาให้ยาต้านไวรัส คือ ยาโอลเซลทามิเวียร์ (oseltamivir) เป็นยาชนิดกิน หากผู้ป่วยได้รับยาภายใน 2 วันหลังเริ่มป่วย จะให้ผลการรักษาดี
ผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย เช่น มีไข้ต่ำ ๆ และยังรับประทานอาหารได้ อาจไปพบแพทย์ที่คลินิก หรือขอรับยาและคำแนะนำจากเภสัชกรใกล้บ้าน และดูแลรักษากันเองที่บ้าน โดย
  • - รับประทานยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้พาราเซตามอล ยาละลายเสมหะ เป็นต้น และเช็ดตัวลดไข้เป็นระยะด้วยน้ำสะอาดไม่เย็น
  • - ดื่มน้ำสะอาดและน้ำผลไม้มาก ๆ งดดื่มน้ำเย็น
  • - พยายามรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ได้มากพอเพียง เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ไข่ ผัก ผลไม้ เป็นต้น หากรับประทานอาหารได้น้อย อาจต้องได้รับวิตามินเสริม
  • - นอนหลับพักผ่อนมาก ๆ ในห้องที่อากาศถ่ายเทดี
  • - ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาปฏิชีวนะ ยกเว้นติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ซึ่งต้องรับประทานยาจนหมดตามแพทย์สั่ง เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อดื้อยา
การป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ
  • - หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่
  • - หากต้องดูแลผู้ป่วย ควรสวมหน้ากากอนามัย เมื่อดูแลเสร็จ ควรรีบล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาดทันที
  • - ไม่ใช้แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนอาหาร ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดหน้าร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่
  • - ใช้ช้อนกลางทุกครั้ง เมื่อรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
  • - หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังไอ จาม
  • - รักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รวมทั้งไข่ นม ผัก และผลไม้ ดื่มน้ำสะอาดและนอนหลับพักผ่อนให้พอเพียง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงบุหรี่และสุรา




การป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อ
  • - หากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ควรลาหยุดงาน หยุดเรียน เป็นเวลา 3 - 7 วัน ซึ่งจะช่วยลดการแพร่ระบาดได้มาก
  • - พยายามหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดคลุกคลีกับคนอื่น ๆ
  • - สวมหน้ากากอนามัย เมื่ออยู่กับผู้อื่น หรือใช้ทิชชูปิดจมูกปากทุกครั้งที่ไอจาม ทิ้งทิชชูลงในถังขยะที่มีฝาปิด แล้วล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่





                                                                                                                สุพล  พันอิน
                                                                                                 จพง.โสตฯ / ก.สุขศึกษา รพ.สุรินทร์

วันเสาร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2555

โรงพยาบาลสุรินทร์เตือนประชาชนระวังไข้เลือดออกระบาด


          ดร.นพ.ธงชัย  ตรีวิบูลย์วณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุรินทร์ เตือนประชาชนระวังโรคไข้เลือดออกที่กำลังระบาดในช่วงหน้าฝน  แนะประชาชนเร่งกำจัดแหล่งเพาะพันธ์ของยุง โดยเฉพาะภาชนะที่มีน้ำขัง
         
         ดร.นพ.ธงชัย ตรีวิบูลย์วณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุรินทร์ ก็ได้สั่งกำชับให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในด้านการควบคุมโรคให้เฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกในพื้นที่อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด และได้กำชับว่าหากมีรายงานพบผู้ป่วยแม้เพียงรายเดียว หรือพบข้อมูลต้องสงสัยว่าอาจมีการแพร่ระบาดของโรคเกิดขึ้น ต้องควบคุมโรคให้ได้ภายใน 24 ชั่วโมง และให้แต่ละพื้นที่ทำการรณรงค์ให้ประชาชนทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทุกสัปดาห์อย่างต่อเนื่อง และสนับสนุนให้ชุมชนทุกแห่งจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อลดปริมาณยุงลายให้มากที่สุด และทำลายลูกน้ำยุงลาย พ่นสารเคมีฆ่ายุงตัวแก่ภายในบ้านและรอบบ้านผู้ป่วยในรัศมี 100 เมตร และพ่นซ้ำในอีก 7 วัน
            ดร.นพ.ธงชัย ตรีวิบูลย์วณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุรินทร์  กล่าวว่า “ไข้เลือดออก” เป็นโรคที่ติดต่อกันได้โดยมียุงลายที่มีเชื้อไข้เลือดออกกัด ซึ่งยุงลายจะกัดในเวลากลางวัน โรคนี้จะมีระยะฟักตัวของเชื้อประมาณ 8-12 วัน ดังนั้นผู้ที่ถูกยุงกัดโดยเฉพาะผู้ใหญ่หากมีอาการดังต่อไปนี้ให้สงสัยไว้ก่อนว่าป่วยเป็นไข้เลือดออก คือ หลังถูกยุงกัด ประมาณ 5-8 วัน แล้วมีไข้สูงมากๆ ติดต่อกัน 2-7 วัน ปวดศีรษะ ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและกระดูก ไม่ไอและไม่มีน้ำมูกไหลเหมือนไข้หวัด แต่มีผื่นหรือจุดแดงๆ ขึ้นที่ใต้ผิวหนัง หลังไข้ลดลงแล้ว ตัวเย็น รู้สึกเพลียมากๆ เบื่ออาหาร ซึมและคลื่นไส้อาเจียน จะทำให้เกิดภาวะช็อกและเสียชีวิตได้ ต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคและทำการรักษาทันที ถ้าโรคนี้เป็นในเด็กเล็กผู้ปกครองต้องดูแลเป็นพิเศษ เพราะเด็กยังไม่สามารถบอกอาการตัวเองได้ ควรใช้วิธีสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด เช่นหลังให้กินยาพาราเซตามอลหรือเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นเพื่อลดไข้แล้ว ภายใน 2 วันไข้ยังไม่ลด หรือเด็กร้องกวนมาก ไม่กินนม ให้สงสัยไว้ก่อนว่าเด็กอาจป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก ต้องรีบพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคและรักษาอย่างทันท่วงที และที่สำคัญการให้ยาลดไข้ ต้องใช้ยาพาราเซตามอลเท่านั้น ห้ามใช้ยาแอสไพรินอย่างเด็ดขาด เพราะถ้าป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก ซึ่งมีเลือดออกในอวัยวะภายในอยู่แล้ว เนื่องจากแอสไพรินมีคุณสมบัติต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือด จะทำให้มีเลือดออกมากขึ้น เลือดหยุดยากและอาจทำให้เสียชีวิตได้




                                                                                                            สุพล  พันอิน
                                                                                              กลุ่มงานสุขศึกษา รพ.สุรินทร์ / ข่าว
                                                                                                                ติดต่อ

วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2555

โรงพยาบาลสุรินทร์ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่แก่เจ้าหน้าที่


         ดร.นพ.ธงชัยตรีวิบูลย์วณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุรินทร์  ดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ให้ประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ทุกสิทธิฟรี ตั้งแต่ 1 มิถุนายนถึง 30 กันยายน 2555 เพื่อป้องกันการเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล 3 สายพันธุ์
        โรคไข้หวัดใหญ่ มักระบาดในช่วงหน้าฝนถึงฤดูหนาว ปัจจุบันประชาชนจะมองโรคนี้ว่าเป็นโรคที่ไม่รุนแรง แต่สำหรับคนกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ป่วยโรคเรื้อรังนั้น หากป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ แทรกซ้อน จะมีความเสี่ยงต่อชีวิตมาก ซึ่งในแต่ละปีประเทศไทยมีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 7-9 แสนราย ในจำนวนนี้มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดบวม ต้องรับไว้โรงพยาบาล 12,575 – 75,801 รายต่อปี อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ที่มีภาวะแทรกซ้อนอยู่ที่ร้อยละ 2.5 ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาลปีละ 913 – 2,453 ล้านบาท ดังนั้นแนวทางป้องกันที่ดีที่สุด คือ การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้ ในปีนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม -14 พฤษภาคม 2555 ทั่วประเทศมีรายงานผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 11,380 ราย ไม่มีเสียชีวิต

            เมื่อประชาชนกลุ่มดังกล่าวข้างต้น ได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่แล้ว ก็จะลดการเจ็บป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่หรือภาวะแทรกซ้อนจากโรคไข้หวัดใหญ่ได้ คนไข้และญาติก็ไม่ต้องเสียเวลา ค่าใช้จ่ายมาหาหมอ ไม่ต้องมีการตรวจรักษาหรือจ่ายยา และไม่มีค่าเดินทางมาโรงพยาบาล ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขณะที่ภาครัฐก็ลดภาระการรักษาพยาบาลลงได้เช่นกัน ทั้งนี้ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ฉีดในปีนี้ เป็นวัคซีนรวม 3 สายพันธุ์ คือชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1(A H1N1) ชนิดเอ เอช 3 เอ็น 2 (A H3N2) และชนิดบี (B) ซึ่งเป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลที่พบบ่อยในไทยและทั่วโลก และวัคซีนยังใช้ได้ผลดี เนื่องจากเชื้อไม่มีปัญหากลายพันธุ์



                                                                                                           สุพล  พันอิน
                                                                                               จพง.โสตฯ ก.สุขศึกษา รพ.สุรินทร์
                                                                                                        ติดต่อ-ฝากข้อความ

วันศุกร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2555

โรงพยาบาลสุรินทร์จัดงานวันงดสูบบุหรี่โลก 2555


             วันที่ 31 พฤษภาคม 2555 ดร.นพ.ธงชัย ตรีวิบูลย์วณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุรินทร์ ได้เป็นประธานเปิดงานวันงดสูบบุหรี่โลก ซึ่งในปีนี้โรงพยาบาลสุรินทร์ได้จัดงานขึ้นที่ศูนย์แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผู้สูงอายุวัดศาลาลอย สืบเนื่องมาจาก จังหวัดสุรินทร์เป็น 1 ใน 6 จังหวัดที่ได้ รับคัดเลือกให้เป็นจังหวัดต้นแบบในการเลิกสูบบุหรี่ โดยได้มีการคัดเลือกให้ชุมชนศาลาลอยเป็นชุมชนนำร่องในการดำเนินงานด้านชุมชนปลอดบุหรี่ และได้รับการสนับสนุนจาก "เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพ เพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่"
           กลุ่มงานสุขศึกษา โรงพยาบาลสุรินทร์ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานด้านปลอดบุหรี่ในชุมชน และเป็นเจ้าของคลินิกฟ้าใส ซึ่งเป็นคลินิกที่รับให้คำปรึกษาเรื่องการเลิกสูบบุหรี่ ได้ร่วมกับทีมสหสาขาวิชาชีพ ในโรงพยาบาลสุรินทร์ จัดโครงการเครือข่ายสตรี เพื่อชุมชนศาลาลอยปลอดบุหรี่ ภายในงานนั้นได้มีการ จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนรวมทั้งนักเรียนนักศึกษา ตระหนักถึงความสำคัญในการร่วมกันรณรงค์ให้เป็นชุมชนปลอดบุหรี่ และ เสริมสร้างความรู้ให้กับตนเอง เพื่อที่จะเป็นแกนนำในการให้คำปรึกษาเรื่องเลิกบุหรี่แก่ผู้ที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมการให้ ความรู้จากสหสาขาวิชาชีพต่างๆ ที่มาร่วมกันออกบูธภายในงานโดยแบ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็น 5 กลุ่ม เข้าฐานแรลลี่ ฐานที่ 1 - เทคนิคการเอาชนะใจตัวเองเพื่อเลิกบุหรี่
             - ศูนย์มะเร็งกับกิจกรรมดีๆ เพื่อลด ละ เลิกบุหรี่
ฐานที่ 2 - ยาและเรื่องที่น่ารู้เพื่อเลิกบุหรี่
             - การใช้สมุนไพรและแพทย์ทางเลือกเพื่อเลิกบุหรี่
ฐานที่ 3 - สุขภาพในช่องปาก
             - การส่งเสริมสุขภาพที่น่ารู้
ฐานที่ 4 - อาหารเพื่อสุขภาพและเพื่อลดการอยากสูบบุหรี่
             - ศูนย์ไตเทียมกับกิจกรรมดีๆ เพื่อลด ละ เลิกบุหรี่
ฐานที่ 5 - สุขภาพหัวใจดี ต้องปราศจากบุหรี่
             - การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ เอาชนะบุหรี่


             ดร.นพ.ธงชัย ตรีวิบูลย์วณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุรินทร์ กล่าวว่า การติดบุหรี่ คือ การเสพติดคิโคติน โดยนิโคตินมีฤทธิ์เสพติด รุนแรงเท่ากับเฮโรอีน เมื่อสูบนิโคตินเข้าสู่ร่างกายไปถึงสมองอย่างรวดเร็วเพียง 7 วินาทีเท่านั้นมีผลโดยตรงต่อระบบประสาท ทำให้ผู้สูบบุหรี่รู้สึก สุขสบาย ช่วยลดความเครียดความกังวลได้ชั่วขณะ ดั้งนั้น ทำให้ผู้สูบบุหรี่หลงใหลในผลดังกล่าวเป็นอย่างมากและต้องกลับไปสูบบุหรี่ เพื่อให้มีนิโคตินในสมองตลอดเวลา ซึ่งการรณรงค์ในวันนี้มุ่งหวังให้แกนนำเครือข่ายต่างๆและจิตอาสาได้ส่งเสริมเพิ่มจำนวนบ้านปลอดบุหรี่ ในชุมชนและลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ของชุมชนศาลาลอย ซึ่งการจะทำได้สำเร็จต้องกาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ในการร่วมรณรงค์ ขอเป็นกำลังใจให้กับคณะกรรมการของโครงการและแกนนำตลอดทั้งจิตอาสาทุกท่านที่เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม
            วันงดสูบบุหรี่โลก ตรงกับวันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี เริ่มจัดครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1988 (พ.ศ. 2531) โดยองค์การอนามัยโลก เพื่อให้เห็นถึงอันตรายของการสูบบุหรี่ต่อสุขภาพของผู้สูบบุหรี่ และผู้ไม่สูบบุหรี่แต่ได้รับควันบุหรี่ การจัดงานวันงดสูบบุหรี่โลก ก็เพื่อกระตุ้นให้ผู้สูบบุหรี่เลิกสูบ และให้รัฐบาล ชุมชน และประชากรโลกตระหนักถึงความสำคัญและเข้าร่วมกิจกรรม
            ปีนี้เป็นปีที่ 24 ของการรณรงค์เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดประเด็นวันงดสูบบุหรี่โลก คือ “การแทรกแซงนโยบายจากอุตสาหกรรมยาสูบ” “Tobacco Interference”             สำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนด คำขวัญสำหรับการรณรงค์ในวันงดสูบบุหรี่โลกว่า “จับตาเฝ้าระวังยับยั้งอุตสาหกรรมยาสูบ” เพื่อให้คนในสังคมร่วมมือช่วยกันเฝ้าระวัง กิจกรรมการสื่อสารการตลาดของอุตสาหกรรมยาสูบ เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของการเสพติดบุหรี่
            ปัจจุบันมีประเทศที่ดำเนินการควบคุมยาสูบภายใต้อนุสัญญาควบคุมการบริโภคยาสูบ (WHO - FCTC) เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น อุตสาหกรรมยาสูบจึงมีความพยายามที่ขัดขวางการดำเนินงานตามอนุสัญญาควบคุมยาสูบของประทศต่างๆ โดยใช้กลยุทธ์ทางการตลาด ที่มีความซับซ้อน และมีกลวิธีที่หลากหลาย เพื่อผลสำเร็จในการขัดขวางมาตรการควบคุมยาสูบ ดังเช่น ความพยายามในการขัดขวางมาตรการ ภาพคำเตือนบนซองบุหรี่อุตสาหกรรมยาสูบใช้กลยุทธ์ในการฟ้องร้องประเทศต่างๆ ที่ดำเนินการตามมาตรการของอนุสัญญาฯโดยอ้างว่าภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ ส่งผลกระทบต่อเครื่องหมายการค้าที่ถูกต้องตามกฎหมายของพวกเขาซึ่งเป็นข้ออ้างที่ถูกตีตกโดยรัฐบาลประเทศต่างๆทั่วโลกต่างๆทั่วโลก วันงดสูบบุหรี่โลกปีนี้ องค์การอนามัยโลกจึงมุ่งหมายให้ประชาชนโลก ได้รู้เท่าทันความพยายามในการขัดขวางมาตรการสำคัญในการควบคุมยาสูบ ภายใต้อนุสัญญาควบคุมยาสูบ โดยดำเนินการตามมาตรา 5.3 ด้วยการให้ประเทศภาคีสมาชิกดำเนินการ “สร้างความตระหนักในปัญหาการแทรกแซงจากอุตสาหกรรมยาสูบที่ส่งผลกระทบต่อการควบคุมยาสูบของประเทศ”











                                                                     สุพล พันอิน / ข่าว
                                                                       ฝากข้อความ / ติดต่อ