หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

นักวิทย์เตือนไข้หวัดนกใกล้กลายพันธุ์



             ทุกวันนี้ การกำจัดเป็ดไก่เป็นแสนเป็นล้านตัวเพื่อสกัดกั้นการระบาดของไข้หวัดนก อาจไม่ใช่ข่าวใหญ่พาดหัวเหมือนเมื่อก่อน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า อันตรายของไวรัส เอช5เอ็น1 จะหมดไป และนักวิทยาศาสตร์ที่กำลังเจาะลึกไวรัสนี้อยู่กำลังวิตกอย่างมาก หลังพบว่า เหลืออีกไม่กี่ก้าวเท่านั้น ไวรัสชนิดนี้ก็จะกลายร่างกลายพันธุ์เป็นไวรัสเพชฌฆาต ที่ควรเร่งหาวิธีป้องกันก่อนระบาดไปทั่วโลกและคร่าชีวิตชาวโลกหลายล้านหรือสิบล้าน
   ย้อนกลับในปี 2552 ปีที่ไวรัสไข้หวัดหมู เอช1เอ็น1 ซึ่งต่อมาเรียกใหม่ว่า ไข้หวัดใหญ่ 2009 ระบาดไปทั่วโลกนั้น กว่าจะมีไวรัสออกมาสกัดกั้นการระบาด ใช้เวลาหลายเดือน และ ณ เวลาที่ผลิตออกมาได้ ก็มีพอใช้เพียงแค่หนึ่งในห้าของประชากรโลก 7,000 ล้านคน ดังนั้น หากไวรัสไข้หวัดนกกลับมาระบาดใหม่ทั่วโลก ก็น่าจะหายุทธศาสตร์ที่ต่างออกไปเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ทันและเพียงพอสำหรับประชาชน

          นายเดวิด ซาลิสเบอรี ผู้อำนวยการฝ่ายภูมิคุ้มกันโรคในอังกฤษ ประธานกลุ่มศึกษาวัคซีนในช่วงไข้หวัดใหม่ระบาด กล่าวว่า ประเด็นที่นักวิทยาศาสตร์พูดคุยกันเวลานี้ คือ ควรให้วัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันล่วงหน้าเป็นปี เพื่อป้องกันการระบาดที่ยังไม่เกิด และอาจไม่เกิดขึ้นก็ได้ แทนการรีบเร่งวิจัยพัฒนาวัคซีนเมื่อโรคใหม่เริ่มระบาดแล้ว

           มีรายงานว่า นักวิทยาศาสตร์และผู้ผลิตวัคซีนบางรายได้ผลิตวัคซีน เอช5เอ็น1 และประเทศร่ำรวยอย่างสหรัฐอเมริกาและบางประเทศยุโรปได้เริ่มเก็บสำรองไว้สำหรับเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ที่ถือเป็นด่านหน้าแล้ว นอกจากนี้บริษัทเวชภัณฑ์ก็ได้เริ่มลงทุน เพื่อเพิ่มการผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ส่วนหนึ่งเพราะการระบาดของเอช1เอ็น1 ที่เพิ่งผ่านมา กับการขานรับข้อเรียกร้องขององค์การอนามัยโลก ที่แนะให้เตรียมพร้อมสำหรับการระบาดครั้งหน้า

           ผลการวิเคราะห์ใหม่ล่าสุด เมื่อเดือนที่แล้ว เผยว่า ไข้หวัดนก เอช5เอ็น1 ที่ระบาดครั้งหลังสุด อาจคร่าชีวิตผู้ติดเชื้อมากถึง 5.8 แสนคน หาใช่ 1.85 หมื่นคน ตามตัวเลขที่ยืนยันจากห้องแล็บอย่างเป็นทางการ แม้ว่าเอช5เอ็น1 ไม่ได้แพร่จากสัตว์ปีกสู่คนได้ง่ายๆ แต่เมื่อทำสำเร็จ อัตราการตายนั้นสูงถึง 60% ทีเดียว ดังนั้น หากหวัดนก เอช5เอ็น1 กลายพันธุ์เป็นระบาดคนสู่คน อาจเป็นสถานการณ์ที่ต่างออกไปอย่างมากนับถึงวันที่ 6 กรกฎาคม องค์การอนามัยโลกระบุว่า มีผู้ติดเชื้อไวรัสหวัดนก 607 คนทั่วโลก จำนวนนี้เสียชีวิต 358 คน คิดเป็นสัดส่วนหรืออัตราการตาย 59% แม้การให้วัคซีนก่อนระบาดอาจเป็นโอกาสงามแก่บริษัทยายักษ์ใหญ่ที่ผลิตวัคซีนป้องกัน แต่ นิกกิ ชินโด เจ้าหน้าที่ฝ่ายโรคระบาด องค์การอนามัยโลก ที่นครเจนีวา กล่าวว่า ในทางทฤษฎี การให้วัคซีนก่อนระบาด เป็นแนวคิดที่ดี จากผลศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่พบว่า แม้แต่คนที่เคยได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ต่างสายพันธุ์มาก่อน ร่างกายยังสามารถจดจำและป้องกันไวรัสใหม่ได้ในอีกหลายปีให้หลัง ที่เรียกกันว่า ไพรมมิ่ง เอฟเฟกต์ ของวัคซีน  ชินโดและผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ เชื่อว่า การให้วัคซีนป้องกันไว้ก่อน จะช่วยลดความรุนแรงของอาการป่วย ลดจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ลดอัตราการตายลง และเป็นไปได้ที่จะชะลอการแพร่ไวรัสได้


                                                                    ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
                                                                     ข่าว /   สุพล พันอิน

   

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น